วันอังคารที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2554

กฎข้อห้ามของหมู่บ้าน

1. ไม่ล่าสัตว์ป่าเพื่อการค้าขาย

2. ห้ามเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ และสัตว์ปีกภายในหมู่บ้าน

3. ห้ามขายหรือดื่มสุราหรือสิ่งเสพติดในหมู่บ้าน

4. ทำการเพาะปลูกในพื้นที่ที่เคยทำมาก่อนแล้วเท่านั้นและไม่ขายที่ทำกินให้บุคคลภายนอกโดยเด็ดขาด

5. ไม่ทำการใด ๆที่ทำให้เกิดไฟป่า

6. ใช้ประโยชน์จากป่าโดยให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์เพียงเท่าที่จำเป็นแก่การยังชีพเท่านั้น

7. ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้าน

8. ส่งเสริมการปฏิบัติตามความเชื่อวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัด

ห้องเรียนพิเศษสาขาบ้านไล่โว่

หมู่บ้านไล่โว่ หมู่ที่ 4 ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เป็นหมู่บ้านเล็กในป่าใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเขตทุ่งใหญ่นเรศวรมานานแล้ว คำว่าไล่โว่ เป็นภาษากะเหรี่ยง มีความหมายว่า หินแดงหรือผาแดง

ด้วยความที่เป็นหมู่บ้านที่มีภูเขาสลับซับซ้อน จึงเป็นที่อยู่ของชนชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงสัญชาติไทย และที่ยังไม่ได้รับสัญชาติอีกจำนวนหนึ่งที่ได้อาศัยผืนป่าและลำห้วยก่อนที่จะประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นแหล่งทำมาหากิน หมู่บ้านโดยทั่วไปเป็นป่าล้อมรอบไปด้วยภูเขา สภาพเป็นที่ดินเนินเขา และที่ราบกลางหุบเขา มีป่าไม้ยืนต้นรวมกับป่าไผ่ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ มีสายน้ำไหลผ่านหล่อเลี้ยงผู้คนในหมู่บ้าน

บ้านไล่โว่มีระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภอสังขละบุรี 40 กิโลเมตร เป็นถนนดินภูเขาประมาณ 20 กิโลเมตร การเดินทางสัญจรเข้าหมู่บ้าน มี 2 เส้นทาง

ห้องเรียนพิเศษสาขาบ้านไล่โว่ เป็นสาขาของโรงเรียนบ้านกองม่องทะ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ซึ่งเงินทุนส่วนใหญ่ที่ห้องเรียนพิเศษแห่งนี้ได้รับล้วนมาจากการแบ่งปันช่วยเหลือ อาคารในแต่ละหลังใช้เวลาสร้างแรมปี โดยคนในหมู่บ้านเป็นแรงงานช่วยกัน การเรียนการสอนชาวบ้านก็มาช่วยทำการสอนโดยมีไม่ค่าตอบแทน ซึ่งชาวบ้านมาช่วยทำการสอนวิชาภาษากะเหรี่ยง และสอนภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับบุตรหลานของตน จำนวน 3 คน ที่พลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาในแต่ละสัปดาห์ และในทุกวันพระชาวบ้านก็จะมาช่วยพัฒนาซ่อมแซมวัดและโรงเรียน ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าสถานศึกษาแห่งนี้เป็นของพวกเขาและลูกหลานของเขาจริง ๆ

ด้วยเหตุที่อาคารเรียน ห้องเรียน และครูที่มีไม่เพียงพอ การจัดการเรียนการสอนจึงได้มีการเรียนร่วมกันในระดับที่ใกล้เคียงกัน โดยระดับชั้นเด็กเล็กเรียนร่วมกับเด็กอนุบาล เด็กนักเรียนระดับชั้น ป.1 เรียนรวมร่วมกับ ป.2 เด็กนักเรียนระดับชั้น ป.3 เรียนรวมร่วมกับ ป.4 และเด็กนักเรียนชั้น ป.5 เรียนรวมร่วมกันกับ ป.6

สภาพโรงเรียนเป็นโรงไม้เก่าๆ ตั้งอยู่ในที่โล่งแจ้ง รับฝนรับแดด ไม่มีเครื่องมือเครื่องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน ไม่มีหนังสืออ่านประกอบสำหรับใช้อ้างอิง มีแต่ตำราเรียนเฉพาะวิชาที่เก่าๆ ขาดๆ และไม่มีเครื่องมือประกอบการสอนอย่างใดอย่างหนึ่งสำหรับครู นอกจากชอล์กและกระดานเก่าคร่ำคร่า โต๊ะเก้าอี้ที่มียังไม่เพียงพอ แม้กระนั้นเด็กนักเรียนก็ยังรักโรงเรียนของเขา ตั้งใจเรียนและเฝ้าดูแลรักษาโรงเรียนของเขา แม้ในช่วงฤดูฝน ทุกปีห้องเรียนจะมีน้ำท่วมขัง เนื่องจากมีน้ำผุดจากใต้ดินบริเวณห้องเรียน ต้องอาศัยศาลาวัดทำการเรียนการสอนชั่วคราวไปก่อนจนกว่าน้ำจะลดแห้ง

ในส่วนอาคารเรียนปัจจุบันมี 1 อาคาร 3 ห้องเรียน นักเรียนนั่งเรียนด้วยความแออัด โรงครัวใช้ศาลาวัดในการประกอบอาหารด้อยโอกาส น่าจะยังใช้ได้กับเด็กๆ เหล่านี้ บางครอบครัวพ่อแม่ต้องไปทำไร่ ทำสวน ลูกที่โตแล้วต้องดูแลน้อง แค่เด็กชั้นประถมแต่ต้องดูแลน้องตัวเล็กๆ อยู่ตามลำพัง ตามมีตามเกิด หรือเด็กนักเรียนบางคนอยู่กับพ่อ ขาดแม่ พ่อหางาน ตัวเองต้องดูแลน้องตัวเล็กๆ เวลามาเรียนต้องนำน้องมาเรียนคอยป้อนข้าวป้อนนมที่โรงเรียน แต่น้องตัวเล็กก็ไม่งอแง ง่วงหรือก็หลับนอนกันในห้องเรียนข้างๆ พี่นั่นแหละ ในส่วนของเสื้อผ้าที่เด็กนักเรียนสวมใส่มาเรียนส่วนใหญ่ได้รับบริจาค ฉะนั้นเสื้อผ้าที่ส่วนใหญ่จึงมีความหลากหลาย

การเดินทาง

การเดินทางสัญจรเข้าหมู่บ้าน มี 2 เส้นทาง

เส้นทางสายแรก เป็นถนนลาดยางถึงทางเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จากน้ำตกตะเคียนทองเป็นทางดิน เมื่อเข้าหน้าฝนการเดินทางจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก หมู่บ้านแทบจะตัดขาดจากโลกภายนอก ซึ่งชาวบ้านจะใช้วิธีการเดิน(ใช้เวลาในการเดินทางเท้าประมาณ 5 ชั่วโมง) เนื่องจากดินภูเขามีความลื่น มีความคดเคี้ยวต้องขึ้นเขาสูงชันและบางครั้งก็ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งต้องผ่านภูเขา ลำน้ำที่สูงและแรงเชี่ยว ต้องเดินไต่ตามสะพานไม้ไผ่ อีกทั้งต้นไม้หรือกอไผ่ล้มทับขวางทาง รถยนต์จึงไม่สามารถวิ่งสัญจรได้ต้องหมดช่วงฤดูฝน และชาวบ้านต้องมาซ่อมแซมทางเดินก่อนรถยนต์ถึงจะสามารถวิ่งได้ ในตลอดระยะเส้นทางจะได้ยินเสียงน้ำไหลริน เสียงน้ำตก ที่เป็นต้นสายของน้ำตกตะเคียนทองอยู่ตลอดระยะเส้นทางจนถึงหมู่บ้าน

เส้นทางสายที่สอง เป็นเส้นทางที่ต้องเดินทางผ่านที่ทำการบริหารส่วนตำบลไล่โว่ หมู่บ้านสะเน่พ่อง ใช้เวลาในการเดินทางพอๆ กันกับเส้นทางสายแรก แต่เส้นทางเส้นนี้ใช้สำหรับการเดินเท้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น รถไม่สามารถใช้วิ่งบนเส้นทางเส้นนี้ได้ เพราะเส้นทางมีลักษณะที่เป็นภูเขา โขดหินและในบางครั้งเส้นทางแคบ หรือต้องเดินทางผ่านน้ำตก เส้นทางนี้ชาวบ้านนิยมใช้เดินทางเพราะสะดวก และภูเขาไม่สูงมากนัก